รู้ทัน Financial Stress เปลี่ยนความเครียดเป็นโอกาสและเรื่องท้าทายที่ทำให้เงินงอกเงย

30 Jun 2023 - 6 mins read

Wealth / Money

Share

เป็นเหมือนกันไหม? ที่รู้สึกว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ต่อให้เป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน หากเกี่ยวข้องกับเงินแล้วละก็ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ให้คิดหนักอยู่บ่อยครั้ง และอาจบานปลายเป็นความเครียดจากการเงิน จนอยากจัดการให้อยู่หมัดมากกว่าปล่อยทิ้งไว้ให้รบกวนใจ

 

สาเหตุหลักที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย รู้สึกกังวลใจจากเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเพราะว่าในตอนนี้คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับ ‘Financial Stress’ หรือ ‘ภาวะเครียดทางการเงิน’ โดยเฉพาะคน Gen Y ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยความพยายามไขว่คว้าหาความสำเร็จและความมั่นคง ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง

 

เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตทุกคน เมื่อเกิดกระแสหรือปรากฏการณ์ใด ๆ ในสังคม ซึ่งข้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงิน ย่อมเป็นประเด็นน่าสนใจให้จับตามองเสมอ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของเหตุการณ์เหล่านั้น จะกระทบมาถึงเงินในกระเป๋าของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

จึงนับเป็นเรื่องการเงินที่ใกล้ตัวที่ LIVE TO LIFE ตั้งใจเลือกมาแนะนำให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจผ่านเนื้อหาในบทความนี้ว่า ภาวะเครียดทางการเงินจะส่งผลมาถึงทุกคนได้อย่างไร และมีวิธีใดบ้าง ที่จะช่วยเปลี่ยนความเครียดเป็นโอกาสและเรื่องท้าทายเพื่อทำให้เงินงอกเงย

 

 

ความไม่แน่นอน : ต้นเหตุแห่งความเครียดทางการเงิน

 

จริงอยู่ว่าที่โลกไม่เคยหยุดนิ่ง แต่การหมุนของโลกที่ใครหลายคนหมายมั่นให้นำพาชีวิตและเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปยังหนทางที่ดีหรือที่ถูกที่ควรตามหวัง กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘ความผันผวน’

 

เมื่อไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันพรุ่งนี้และภายภาคหน้า จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ หากคนส่วนใหญ่จะไม่ทันได้เตรียมตัวหรือวางแผนชีวิตเอาไว้ เพื่อรับมือกับความผันผวนอย่างกะทันหัน ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนต่างใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความผันผวนในสังคม ทั้งความไม่มั่นคงของเหตุบ้านการเมือง ปัญหาโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง การปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการรุดหน้าของเทคโนโลยีและการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ ที่เปลี่ยนแปลงตลาดการจ้างงาน

 

ความเอาแน่เอานอนไม่ได้จากทั้งหมดนี้ จึงส่งผลกระทบด้านการเงินและนิสัยการใช้จ่ายของทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลายคนต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้ หรือสูญเสียรายได้ไปในบางช่องทาง ขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น เกิด ‘Financial Stress’ หรือ ‘ภาวะเครียดทางการเงิน’ ซึ่งเป็นความเครียดร่วมกับความหวั่นวิตกว่าจะชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะจำนวนเงินที่หามาได้อาจไม่เพียงพอให้ซื้อความสุขและใช้ชีวิตอย่างสบายอีกต่อไป

 

แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ตัวเองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงภาวะเครียดทางการเงิน

 

 

สูตรคำนวณ : ตัวช่วยประเมินความเครียดทางการเงิน

 

เงินจำนวนเท่ากัน สำหรับคนกลุ่มหนึ่งอาจเห็นว่าเยอะและเพียงพอให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าน้อยนิดและไม่พอให้ใช้จ่ายประจำวัน

 

การเงินจึงเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีปัจจัยในชีวิตหลาย ๆ อย่างเข้ามาข้องเกี่ยว ทำให้ต้องใช้สูตรคำนวณ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานรูปแบบหนึ่งเข้ามาช่วยประเมินภาวะเครียดทางการเงิน คล้ายกับการตรวจสุขภาพกายประจำปี เพราะผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะเป็นสิ่งยืนยันว่า การเงินของแต่ละคนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความเครียดได้หรือไม่

 

สูตรคำนวณเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลที่ LIVE TO LIFE คัดเลือกมาแนะนำ มีทั้งหมด 5 สูตร ดังนี้

 

สูตรที่ 1 อัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio) ใช้คำนวณดูว่าเงินที่หามาได้ในแต่ละเดือนเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหรือไม่

 

ผลลัพธ์ที่ได้ควรมีค่ามากกว่า 1 ถึงจะผ่าน ยิ่งมีค่ามากกว่า 1 มากเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่า เราสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่นมากเท่านั้น หากได้ผลลัพธ์น้อยกว่า 1 แสดงว่ารายรับน้อยกว่ารายจ่าย ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาช่องทางที่ช่วยเพิ่มรายได้ ถ้าปล่อยเอาไว้ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการกู้หนี้ยืมสิน ทำให้เกิดภาวะเครียดทางการเงินได้

 

ตัวอย่างการคำนวณ : หากมีรายรับรวมต่อเดือนเป็นเงิน 30,000 บาท และมีรายจ่ายรวมต่อเดือน 19,500 บาท นำตัวเลขมาแทนค่าในสูตรจะได้ 30,000 ÷ 19,500 = 1.54 หมายความว่า เรามีเงินเพียงพอให้ใช้ในแต่ละเดือน สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน

 

สูตรที่ 2 อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน (Basic Liquidity Ratio) ใช้คำนวณหาว่ามีเงินสำรองเพียงพอให้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินเป็นระยะเวลานานกี่เดือน หากไม่มีรายได้ใด ๆ

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง คือ เงินสด เงินฝาก ทองคำ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่สามารถนำไปแลกเป็นเงินสดได้ทันที เพื่อนำมาใช้จ่าย ส่วนผลลัพธ์จากการคำนวณควรอยู่ระหว่าง 3-6 หรือมากกว่า 6 ถึงจะผ่าน เพราะตัวเลขที่ได้จะบอกให้รู้ว่าเรามีเงินพอเอาไว้ใช้จ่ายเป็นระยะเวลานานแค่ไหน ซึ่งควรอยู่ระยะ 3-6 เดือน จึงจะถือว่ามีการเงินมีสภาพคล่องพื้นฐาน ยังไม่น่าเป็นห่วง

 

ตัวอย่างการคำนวณ : หากมีสินทรัพย์สภาพคล่อง 110,000 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท นำตัวเลขมาแทนค่าในสูตรจะได้ 110,000 ÷ 20,000 = 5.5 หมายความว่า การเงินยังอยู่ในสภาพคล่อง เพราะเรามีเงินสำรองเพียงพอให้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เป็นระยะเวลา 5 เดือน

 

สูตรที่ 3 อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to Asset Ratio) ใช้คำนวณหาความมั่นคงทางการเงิน โดยนำจำนวนหนี้สินและสินทรัพย์ทั้งหมดมาหักล้างเพื่อดูว่า สภาพการเงินในปัจจุบันของเรานั้นมีส่วนไหนเยอะกว่ากัน

 

หนี้สินในที่นี้นับรวมหนี้ทั้งหมดที่ค้างจ่ายหรือรอชำระ ส่วนสินทรัพย์ให้นับรวมตั้งแต่เงินสด เงินฝาก หุ้น กองทุน พันธบัตร ที่ดิน ของที่มีมูลค่า รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ผลลัพธ์จากการคำนวณควรมีค่าน้อยกว่า 0.5 ถึงจะผ่าน ยิ่งอายุมากเท่าไหร่ ค่านี้ต้องน้อยลงหรือเท่ากับ 0 ซึ่งหมายความว่า มีความมั่นคงทางการเงินมาก เพราะมีหนี้สินน้อยหรือไม่มีหนี้สินเลย

 

ตัวอย่างการคำนวณ : หากมีหนี้สินรวมเป็นเงิน 950,000 บาท และมีสินทรัพย์รวม 1,000,000 นำตัวเลขมาแทนค่าในสูตรจะได้ 950,000 ÷ 1,000,000 = 0.95 หมายความว่า เราขาดความมั่นคงทางการเงิน เพราะมีภาระหนี้สินต่อสินทรัพย์มากกว่าเกณฑ์ 0.5 ควรเร่งชำระหนี้เก่า ไม่สร้างหนี้ใหม่ รวมถึงหารายได้และสินทรัพย์เพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่งคงทางการเงิน

 

สูตรที่ 4 อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Ratio) ใช้คำนวณหาความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ดีแค่ไหน

 

ผลลัพธ์ที่ได้ควรมีค่าน้อยที่สุด เพราะหมายความว่า มีหนี้ที่ต้องชำระน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีช่วงที่ยอมรับได้ คือควรอยู่ระหว่าง 0.35 - 0.45 หากมากกว่านี้ มีความเสี่ยงว่าถ้ารายได้ขาดหายไป จะทำให้ผ่อนชำระหนี้ในอนาคตต่อไปไม่ไหว จนเกิดเป็นความเครียดทางการเงิน

 

ตัวอย่างการคำนวณ : หากมีจำนวนหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนเท่ากับ 7,500 บาท และมีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท นำตัวเลขมาแทนค่าในสูตรจะได้ 7,500 ÷ 30,000 = 0.25 หมายความว่า เรามีความสามารถชำระหนี้ได้ในแต่ละเดือน แต่ถ้าให้ดีควรเท่ากับ 0 เพราะการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ

 

สูตรที่ 5 อัตราส่วนการออมและการลงทุน (Saving and Investing Ratio) ใช้คำนวณหาความสามารถในการออมและลงทุนในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินได้

 

ผลลัพธ์ที่ได้ควรมีค่ามากกว่า 0.1 ถึงจะผ่าน เพราะการออมเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและรากฐานสำคัญของการสร้างมั่นคงทางการเงินในชีวิต ควรแบ่งรายได้ในแต่ละเดือนออกมาเป็นเงินออมอย่างน้อย 10% อาจนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสบรรลุเป้าหมายการเงินในอนาคตที่ใครหลายคนตั้งเอาไว้

 

ตัวอย่างการคำนวณ : หากมีรายจ่ายเพื่อออมและลงทุนต่อเดือน 8,500 บาท และมีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท ตัวเลขมาแทนค่าในสูตรจะได้ 8,500 ÷ 30,000 = 0.28 หมายความว่า แต่ละเดือนเราแบ่งรายได้เป็นเงินออมและเงินลงทุนมากถึง 28% ยิ่งช่วยให้เงินงอกเงย เพราะเป็นได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไร

 

 

บันได 4 ขั้น : หนทางที่ดีกว่าเพื่อก้าวข้ามภาวะเครียดทางการเงิน 

 

หลังจากตรวจสุขภาพการเงินด้วยตัวช่วยประเมินความเครียดทางการเงินทั้ง 5 สูตรแล้ว หากผลลัพธ์ออกมาไม่ผ่านเกณฑ์มากเท่าไหร่ นอกจากบ่งบอกได้ว่าการเงินกำลังไม่มั่นคง ยังเพิ่มความเสี่ยงเกิดความเครียดทางการเงินมากเท่านั้น

 

ทางออกของปัญหา จึงไม่ใช่แค่ผ่อนคลายความเครียด แต่จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปยังสาเหตุ เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ที่ต่อยอดเงินให้งอกเงย พร้อมปรับวิธีคิดต่อความเครียดทางการเงินให้กลายเป็นเรื่องท้าทายที่ก้าวข้ามผ่านไปได้ด้วยดี โดยอาศัยบันได 4 ขั้นต่อไปนี้

 

บันไดขั้นที่ 1 สำรวจตัวเองให้ถ้วนถี่ : เริ่มต้นด้วยการยอมรับก่อนว่าเครียดทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้เป็นปัญหาที่รอได้ไหม ต้องรีบแก้ไขให้ทุกอย่างคลี่คลายหรือไม่ แล้วถามตัวเองว่าที่ผ่านมาจัดการเงินอย่างไรบ้าง แล้วเขียนแจกแจงเป็นข้อ ๆ เพราะจะทำให้เห็นภาพรวมของนิสัยการใช้จ่ายและสถานะทางการเงินได้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานนำไปสู่บันไดขั้นต่อไป

 

บันไดขั้นที่ 2 กำหนดเป้าหมายใหม่ : เป็นขั้นที่เราต้องประเมินความต้องการของตัวเองจากนิสัยการใช้จ่ายและสถานะทางการเงิน เริ่มจากแยกให้ออกว่า อะไรคือ Wants หรือ สิ่งที่อยากได้ และอะไรคือ Needs หรือ สิ่งที่จำเป็นต้องมี ซึ่ง Wants และ Needs ของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

 

เมื่อแยกได้แล้วให้เรียงลำดับความสำคัญโดยเน้นสิ่งที่จำเป็นต้องมีก่อนว่าใช้เงินเท่าไหร่ และตัดสิ่งที่อยากได้ออกไปก่อน เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมกับกำหนดเป้าหมายการเงินเพิ่มเติม เป็นเป้าหมายระยะสั้น กลาง และยาว หากไม่มีเป้าหมาย เป็นไปได้ว่าเราเองจะสุรุ่ยสุร่าย และไม่ระวังเรื่องการใช้จ่ายมือเติบ

 

บันไดขั้นที่ 3 ทำแผนการเงิน : จากเป้าหมายที่วางไว้ แปลงออกมาเป็นจำนวนเงินที่ต้องใช้เพื่อบรรลุแต่ละเป้าหมาย จำเป็นต้องเขียนแผนการใช้จ่ายเงินและหาเงินอย่างละเอียด โดยเน้นเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และแบ่งเงินออมมาลงทุนให้เงินต่อเงิน เช่น ลงทุนในกองทุนรวม หรือลงทุนในธุรกิจที่ศึกษาหาความรู้มาและอยู่ในระดับความเสี่ยงที่รับได้

 

ข้อดีของการมีแผนการเงินที่ชัดเจน จะทำให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรและปรับเปลี่ยนอะไร ช่วยติดตามความคืบหน้าระหว่างทางและเตือนตัวเองว่าต้องทำเป้าหมายให้สำเร็จ

 

บันไดขั้นที่ 4 มีวินัยและความสม่ำเสมอ : หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพการเงินกลับมาดีขึ้น และหายจากภาวะเครียดทางการเงินได้ คือ วินัยและความสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นความตั้งใจพยายามทำตามแผนการเงินและเป้าหมายให้ลุล่วง โดยไม่ลืมว่า สถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจอาจผันผวนได้ตลอดเวลา จึงควรทบทวนและปรับปรุงแผนการเงินทุก 6 เดือน

 

 

อ้างอิง

 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...